Wednesday, March 14, 2007

แนวข้อสอบ
วิชาพระพุทธศาสนากับปรัชญา
………………………………………..
ข้อสอบมีทั้งหมด 7 ข้อ เลือกทำ 5 ข้อ แต่บังคับให้ทำ 1 ข้อ
1. จงวิเคราะห์ในความเหมือนและความต่างระหว่างศาสนากับปรัชญามาดูพอเข้าใจ ? (ข้อบังคับ)
ตอบ ความเหมือนของศาสนากับปรัชญา มีดังนี้
ศาสนากับปรัชญามีบ่อเกิดเหมือน ๆ กัน คือ ศาสนามีบ่อเกิดมาจากความสงสัยในโลกและชีวิตซึ่งเป็นปรัศนาและมนุษย์ก็อาศัยปริศนานั้นเป็นมูลรากในการค้นหาคำตอบ และพยายามที่จะเข้าถึงปริศนาอันนี้โดยการบำเพ็ญเพียรบ้าง โดยการได้รับการเปิดเผยธรรมจากเบื้องบน เมื่อทราบปมหรือข้อมูลปรัศนาอันนั้นก็นำออกมาเผยแผ่แก่ผู้คน โดยมีหลักศรัทธาเป็นรากฐานแห่งการค้นพบนั้นเป็นคำตอบสุดท้าย ความสมเหตุสมผลจะมีหรือไม่มีไม่สำคัญ ซึ่งกระบวนการนี้ชื่อว่าเป็นบ่อเกิดของศาสนา
ส่วนปรัชญาก็มีบ่อเกิดมาจากการที่มนุษย์มีความสงสัยในปรัศนาของโลกและชีวิต แต่ความสงสัยของนักปรัชญานั้น จะต้องอยู่บนรากฐานของการแสวงหาเหตุผลของสิ่งที่เป็นปัญหาโดยไม่ยึดหลักศรัทธาเป็นคำตอบสุดท้าย สรุปแล้วก็คือว่า บ่อเกิดของศาสนากับปรัชญาจะเหมือนกันก็คือ เกิดความสงสัยในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลกและชีวิต แต่ผลสุดท้ายทั้ง 2 อย่างนั้นกลับลงคนละจุดกัน กล่าวคือ ศาสนายุติที่ศรัทธาต่อสิ่งสูงสุด ส่วนปรัชญายุติที่ความพอใจในเหตุผลของคำตอบซึ่งผ่านกระบวนการคิดในเชิงปรัชญามาแล้ว
ความต่างของศาสนากับปรัชญา หากพิจารณาถึงองค์ประกอบแล้วต่างกันมาก คือ
องค์ประกอบของศาสนา ในปัจจุบันได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ ๆ หนึ่งขึ้นมาเพื่อทีจะใช้เป็นกรอบในการตัดสินว่าศาสนาใดบ้างที่อยู่ในรูปแบบของศาสนาหรือไม่ มี 5 อย่าง คือ
1. ศาสดาหรือผู้ก่อตั้งของศาสนานั้น ๆ
2. ศาสนธรรมหรือคำสั่งสอน ได้แก่ คัมภีร์ซึ่งเป็นที่บรรจุคำสอนของศาสนานั้น ๆ
3. ศาสนพิธี ได้แก่พิธีกรรมทางศาสนาซึ่งมีบัญญัติไว้ในคำสอนของศาสนานั้น ๆ
4. ศาสนสถาน ได้แก่ สถานที่สำหรับประกอบพิธีหรือที่เคารพของศาสนิกชนของศาสนานั้น ๆ
5. ศาสนาบุคคล ได้แก่ผู้สืบทอดหรือเป็นตัวแทนของศาสนาในการเผยแผ่แนวคำสอนของศาสนาแก่บุคคล
องค์ประกอบของปรัชญา ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสรุปได้ว่า มีอะไรบ้าง แต่นักปรัชญาจะต้องมีพื้นฐานอยู่ที่การเป็น “นักคิด” ซึ่งผิดกับนักศาสนาที่เป็นนักปฏิบัติ แต่มีประเด็นดังนี้ คือ
1. นักคิด ได้แก่นักปรัชญาหรือมนุษย์ผู้มีความใฝ่รู้ชอบคิดชอบสังเกตและสงสัยในปัญหาของโลกและชีวิต และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดกับสังคม ซึ่งเป็นผู้รักในความรู้
2. สิ่งที่คิดหรือเนื้อหาของความคิด ได้แก่ ปัญหาพื้นฐานของปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับโลกทัศน์ต่อโลกและชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่นักปรัชญาอยากรู้หรือต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางปรัชญา
3. วิธีคิด ได้แก่ ระบบของความคิดในเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นการคิดแบบพื้นฐานของปรัชญาที่จะนำนักปรัชญาไปสู่ความเข้าใจในปัญหานั้น ๆ
4. ความรู้หรือคำตอบของปัญหาที่เป็นแบบปลายเปิด ได้แก้ สิ่งที่เป็นคำตอบที่สามารถอธิบายให้แก่คนอื่นได้รับรู้ และผู้พิจารณาสามารถโต้แย้งหรือนำไปคิดต่อได้โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเชื่อสิ่งที่นักปรัชญาคิด
2. พระพุทธศาสนาเป็นทุนิยมใช่หรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ พุทธศาสนานั้นจัดว่าเป็นทุนิยม ถ้ามองในแง่ตะวันตกมักจะกล่าวว่า พุทธศาสนามักจะสอนเน้นในเรื่องให้มนุษย์มองโลกในแง่ร้าย(ทุนิยม) ดังเช่น อริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ นั่นคือจะมองอะไรก็เป็นทุกข์ไปหมด ทำไมไม่มองโลกในแง่ดีบ้าง(สุนิยม)
แต่ถ้ามองในแง่ของตะวันออกแล้ว พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์มองในแง่ร้าย แต่สอนให้มนุษย์มองอะไรว่าไม่สวยไม่งามเป็นทุกข์หรือมองโลกในแง่ที่เห็นตามความเป็นจริง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเกิดก็เป็นทุกข์ การแก่ก็เป็นทุกข์ เป็นต้น นั่นคือลักษณะของความทุกข์ และทุกข์นั้นจัดว่าเป็นความจริง ส่วนสุขไม่จัดว่าเป็นความจริง เหมือนกับความมืดที่เป็นความจริงโดยธรรมชาติ ส่วนความสว่างไม่จัดว่าเป็นความจริงโดยธรรมชาติ เพราะต้องอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงดาวหรือไฟ ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศที่เป็นหนี้เป็นสินประเทศอื่น เมื่อเกิดมาก็ยอมรับสภาพเป็นหนี้ไปด้วย ดังนั้นเมื่อเราสร้างความสุขให้มีขึ้น มีเงินมีทอง ความทุกข์ก็ลดลงไป ดังนั้น ทุกข์จึงเปรียบได้กับความมืดและความจริงโดยธรรมชาติ อาจจะเรียกว่าเป็นสัจจนิยมก็ได้
3. เรื่องกรรมและการเกิดใหม่ในมุมมองของพุทธปรัชญาเป็นอย่างไรบ้าง ?
ตอบ เรื่องกรรมในทัศนะของพุทธปรัชญานั้น เชื่อว่า เมื่อบุคคลทำกรรมใดไว้ ไม่ว่ากรรมนั้นจะดีหรือเลวก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้
ส่วนเรื่องการเกิดใหม่ พุทธปรัชญาเชื่อว่า การที่จะเกิดในที่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนได้ทำไว้นั้นเอง กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ 5 หรือรูปกับนาม ซึ่งส่วนที่ทำหน้าที่ไปเกิดใหม่นั้นก็คือ “จิตหรือวิญญาณ” นั่นเอง ถึงกระนั้น ถ้าวิญญาณไม่ก้าวลงสู่ครรภ์มารดา นามรูปจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้นวิญญาณที่ดับในชาติก่อนเรียกว่า “จุติวิญญาณ” ส่วนวิญญาณที่เกิดใหม่เรียกว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” แต่จุติวิญญาณกับปฏิสนธิวิญญาณนั้นเป็นวิญญาณคนละดวงกัน เมื่อจุติวิญญาณจะดับลงนั้น จุติวิญญาณได้ส่งผลบุญและบาปออกไปอันเป็นปัจจัยให้เกิดในปฏิสนธิวิญญาณในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป
ถ้าว่าตามความเป็นจริงแล้ว จุติวิญญาณในชาติอดีตมิได้ข้ามมาเกิดในชาติปัจจุบันโดยตรง เพราะจุติวิญญาณเก่าได้ดับลงไปแล้ว แต่จุติวิญญาณได้ส่งพลังให้ปฏิสนธิวิญญาณอีกต่อหนึ่ง คือการส่งผลบุญและบาปที่จุติวิญญาณส่งมาให้นั้นแหละเป็นพลังให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณจึงเป็นผู้รับมรดกจากจุติวิญญาณเพราะผลกรรมนั้นเองส่งผลให้ไปเกิดหรือเป็นปฏิสนธิวิญญาณใหม่เรื่อย ๆ ไป เช่น มีบ้านหลังหนึ่งกำลังถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง และการไหม้อย่างรุนแรงของไฟนั้น ทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีกับอีกบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กัน คือความร้อนของไฟในบ้านที่ถูกไฟไหม้นั้น ได้แผ่กระจายความร้อนของไฟไปหายังบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน จึงทำให้ไฟนั้นพร้อมที่จะลุกทุกเมื่อ เมื่อมีความร้อนถึงขีดจำกัดของมัน
การเกิดใหม่นั้น จะมีกรรมอย่างหนึ่งที่หล่อเลี้ยงอยู่คือ ชนกกรรม หมายถึงกรรมแต่งให้เกิด ซึ่งเมื่อมีพลังที่เรียกว่า ผลบุญและบาปอุปถัมภ์อยู่แล้วชีวิตย่อมเกิดอีกต่อไป เพราะกรรมตัวนี้มีส่วนให้กำเนิดปฏิสนธิวิญญาณ แต่เมื่อจิตหรือวิญญาณทำกรรมที่ทำด้วยกุศล ไม่มีโทษ มีแต่สุข กรรมเช่นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม จะไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมใหม่อีกต่อไป เมื่อกรรมดับ การเกิดใหม่เพราะพลังแห่งชนกกรรมก็ไม่มี จึงสิ้นสุดในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ นั่นคือ การเข้าถึงพระนิพพาน
4. จงวิเคราะห์ว่า พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ พุทธศาสนานั้น “เป็น” ทั้งปรัชญาและศาสนา แต่ข้าพเจ้าจะขอกล่าวส่วนที่เป็นปรัชญา ดังนี้
สาเหตุที่พุทธศาสนาเป็นปรัชญาเพราะว่า ถือทั้งหลักศรัทธาและปัญญาหรือเหตุผล ซึ่งต่างจากบางศาสนาที่ถือแต่หลักศรัทธาอย่างเดียว โดยไม่ถือหลักเหตุผลเป็นสำคัญคือเชื่อคำสอนที่มีอยู่ในคัมภีร์อย่างเคร่งครัด แต่พุทธศาสนานั้นยึดหลักศรัทธาและเหตุผลที่มีต่อคำสอนในคัมภีร์พระไตรปิฏกเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในประเด็นนี้จะยึดเอาแต่ความสมเหตุสมผลหรือความมีหลักเกณฑ์ของคำสอนที่สามารถอธิบายได้ และจะเชื่อก็ต่อเมื่อคำสอนนั้นสามารถให้คำตอบแก่มนุษย์ได้อย่างมีเหตุผล และมี 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ
1. สาเหตุที่พุทธสาสนาเป็นปรัชญานั้นโดยเฉพาะคำสอนที่เป็นระบบมีความเป็นสมเหตุสมผลในตัวเอง เช่น หลักไตรลักษณ์ เราจะพบว่าเมื่อตรวจสอบไล่เลี้ยงดูแล้วสรรพสิ่งก็จะมีลักษณะเป็นเช่นนั้น หรือหลักปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นหลักของความเกิดดับอย่างเป็นระบบของสรรพสิ่ง ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นปรัชญาขึ้นมาได้
2. คำสอนนั้นสามารถอธิบายได้โดยวิธีการทางปรัชญา โดยไม่ต้องติดค้างอยู่กับศรัทธาต่อพระพุทธองค์ ในประเด็นนี้นักปรัชญาจะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ถือว่าการอธิบายคำสอนของพระพุทธองค์เป็นการเฉพาะ ไม่ปะปนด้วยเรื่องบุญญาธิการและการตรัสรู้ของพระพุทธองค์แม้แต่น้อย ซึ่งอธิบายคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นการแสวงหาสัจจะอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งซ่อนอยู่ในคำสอนนั้นออกมาอธิบายให้แก่คนอื่นได้รู้ ดังนั้นจึงทำให้พุทธศาสนาจึงชื่อว่าเป็นปรัชญาหรือพุทธปรัชญา
สรุปแล้ว ขั้นแรกที่พระพุทธองค์เกิดความสงสัยขึ้นกับพระองค์ ทำให้พระองค์ต้องอยากจะรู้ในสิ่งนั้นนั่นเองจึงทำให้พระองค์เป็น Philosophy ในความเข้าใจของชาวตะวันตก เมื่อพระองค์ทรงบรรลุธรรมแล้วจึงเรียกว่า ปัญญาหรือปรัชญาในความเข้าใจของชาวตะวันออก แต่ชาวตะวันออกมักจะอธิบายไปในแนวตะวันตก
5. จงวิเคราะห์เรื่องขันธ์ 5 ตามแนวพุทธปรัชญามาดู และย่อลงเป็น 2 อย่างมีอะไรบ้าง ?
ตอบ ขันธ์ 5 ตามแนวพุทธปรัชญามีดังนี้
1. รูป เป็นองค์ประกอบฝ่ายสสารหรือวัตถุพลังงาน รูปนี้เองเป็นร่างกายของมนุษย์ รูปมี 28 ประการ ได้แก่ มหาภูตรูป 4 หรือปฐมภูมิ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ และธาตุไฟ เป็นสิ่งที่มีคุณภาพเบื้องต้น และอุปาทายรูป 24 คือ รูปที่เกิดจากมหาภูตรูปหรือเกิดขึ้นเพราะอาศัยมหาภูตรูป เรียกว่า ทุติยภูมิ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอื่น ๆ ดังนั้นมหาภูตรูปกับอุปาทายรูปจึงต้องการอิงอาศัยกัน ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปทั้งสองอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
2. เวทนา หมายถึง คุณลักษณะของจิตหรือวิญญาณ หมายถึง ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเพียงเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ บางทีเรียกเวทนาเป็นเจตสิก เพราะเมื่อมีจิตหรือวิญญาณเวทนาจึงจะเกิด
3. สัญญา หมายถึง การจำได้หมายรู้ การจำอาการหรือลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ เช่น สี สัณฐาน กลิ่น ความอ่อนแข็งและอื่น ๆ ในฝ่ายอภิธรรมเรียกว่าเจตสิก
4. สังขาร หมายถึง ลักษณะที่ปรุงแต่งจิตหรือประกอบกับจิตให้เป็นไปในทางดีหรือไม่ดี หรือเป็นกลาง ๆ สังขารจึงเปรียบเหมือนสี เมื่อเข้าไปผสมหรือเข้าไปในน้ำซึ่งเปรียบด้วยจิตก็ทำให้น้ำนั้นเป็นสีใดก็ได้ เพราะสีหรือสังขารเป็นเครื่องปรุงให้น้ำเป็นสีต่าง ๆ ได้
5. วิญญาณ หมายถึง ธรรมชาติที่สามารถรู้แจ้งอารมณ์โดยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ฝ่ายอภิธรรมเรียกว่าจิต
และย่อลงเหลือ 2 อย่าง คือรูปกับนาม ที่ได้ชื่อว่าเป็นรูป เพราะประกอบด้วยสสารทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ส่วนที่ได้ชื่อว่าเป็นนามนั้น เป็นองค์ประกอบฝ่ายจิตเพื่อปรุงแต่งให้มีชีวิต คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สรุปแล้วก็คือ วิญญาณหรือจิตจะมีปรากฏขึ้นได้ ต้องมีการรวมตัวของมหาภูตรูป 4 อย่างสมดุลกันด้วยดีจึงเกิดเป็นรูป แล้วตัวนามหรือวิญญาณ เวทนา สัญญา และสังขาร จึงจะเกิดขึ้นมีขึ้นได้ตามมา
6. แหล่งกำเนิดของความรู้ในพุทธปรัชญามีอะไรบ้าง และมีหลักการเชื่ออย่างไร ?
ตอบ แหล่งกำเนิดหรือบ่อเกิดของความรู้ในพุทธปรัชญา มี 3 อย่าง คือ
1. สุตมยปัญญา หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การอ่านจากตำราหรือคัมภ์ที่น่าเชื่อถือได้ อย่างเช่นพระไตรปิฏกเป็นต้น ตลอดถึงการรับถ่ายทอกจากผู้ที่น่าเชื่อถือได้
2. จินตามยปัญญา ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิด ใคร่ครวญอย่างมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาเหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์
3. ภาวนามยปัญญา ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการพัฒนาหรือเกิดจากประสบการณ์ตรง อันเกิดจากสัญญาบริสุทธิ์และสัญญาพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานนั้นคือพุทธิปัญญาอันมีมาโดยสัญชาตญาณ
ส่วนหลักการเชื่อว่าอะไรเป็นความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ และพระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงหรือภาวนามยปัญญา ถ้าความรู้เหล่านั้นสอดคล้องกับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ก็ให้ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงให้พิจารณาโดยอาศัยกาลามสูตรเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรฐาน ดังนี้
1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะหลักตรรกะ
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านเป็นสมณะนี้เป็นครูของเรา
สรุปว่า ในเมื่อความรู้จากแหล่งทั้งสามขัดแย้งกันเองเช่นนี้ เราต้องอาศัยประสบการณ์ตรงเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความรู้ เพราะประสบการณ์ตรงมีน้ำหนักและสำคัญที่สุด อาจจะเป็นประสบการณ์ทางตาหรือทางใจก็ได้

No comments: