Wednesday, March 14, 2007

แนวข้อสอบ
วิชา อภิปรัชญา
.................................................................
1. อภิปรัชญาว่าด้วยเรื่องอะไร ?
ตอบ อภิปรัชญา แปลตามตัวว่า ปรัชญาอันยิ่งหรือปรัชญาชั้นสูง ซึ่งว่าด้วยปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพของโลกและฐานะของมนุษย์ หรือเรื่องความเป็นจริงแท้ของโลกและจักรวาล ของคน และภาวะที่เหนือธรรมชาติต่าง ๆ
ในทัศนะของชาวตะวันตกกล่าวว่า อภิปรัชญา คือ การศึกษาเรื่องภาวะหรือสัตย์ (Being) และความมีอยู่ (Existence) หรือการศึกษาภาวะทั่วไปอย่างใดอย่างหนึ่งของสิ่งทั้งหลาย
ส่วนในทัศนะของชาวตะวันออกบอกว่า อภิปรัชญาในทัศนะของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปปะพงษ์ประพันธ์ ทรงคิดขึ้นใช้แทนคำว่า Metaphysics ในทางตะวันตก โดยคิดเทียบเคียงกับคำว่า อภิธรรม ซึ่งว่าด้วยเนื้อความอย่างยิ่ง

2.โลกและจักรวาลในแนวพุทธศาสนา เป็นอย่างไร?
ตอบ โลกและจักรวาลในพุทธศาสนาหรือพุทธปรัชญา ก็คือ เบญจขันธ์หรือสังขารโลก พุทธศาสนาสนใจในเรื่องของสังขารโลกโดยพระพุทธองค์ตรัสว่า “พระองค์ทรงบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับโลก ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลกในร่างกายนี้แหละ อันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจครอง”
แต่ถ้าเราไปยึดเบญจขันธ์เป็นตัวตน(สักกายทิฏฐิ) คือการยึดถือว่า รูปนามมีจริงซึ่งเป็นของของเรา จนทำให้เกิดการมองโลกและจักรวาลว่าเที่ยงในทัศนะของคนบางคน แต่พุทธศาสนาไม่ยึดทั้งวัตถุและจิต แต่ให้มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และบางครั้งวัตถุกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันหรือปฏิจจสมุปบาท มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ และมันดับไป ตามกฎแห่งพระไตรลักษณ์
สรุปก็คือ โลกและจักรวาลคือ ขันธ์5 โดยมี อายตนะ12 และธาตุ18 เป็นองค์ประกอบ
โลกและจักรวาลเกิดได้โดยอาศัยหลักปฏิจจสมุปบาท
ธรรมชาติของโลกและจักรวาล คือหลักพระไตรลักษณ์
ลำดับชั้นของโลกและจักรวาล มี 2 แนวคิด คือ แนวคิดของวิทยาศาสตร์และแนวคิดของพุทธศาสนา

3.ในเรื่องจิตนิยม ให้หาความหมายของคำต่อไปนี้ soul, spirit, Mind, และMental มาพอเข้าใจ?
ตอบ คำว่า soul (จิต) ในทัศนะของเพลโต้บอกว่า จะเป็นจิตก็ไม่ใช่ จะเป็นวัตถุก็ไม่เชิง แต่เพลโต้บอกว่าต้องเข้าถึงความคิด ท่านคงจะหมายถึง ธาตุที่แสวงหาความรู้ที่เรียกว่า “ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน” มี 3 ขั้นด้วยกันคือ
1.ความรู้ในเรื่องกิเลสตัณหา
2.ความรู้ในเรื่องความผิดชอบชั่วดี
3.ความรู้ในเรื่องเหตุผล
คำว่า spirit คือ ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัยกัน เขาเรียกว่าคนมี spirit คนไทยเขาเรียกว่า คนมีน้ำใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจ
คำว่าMind คือสภาวะนามธรรมซึ่งทำหน้าที่รับรู้ รู้สึก คิด จำ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกาย และก็ไม่ใช่จิตอีกนั่นแหล่ะ ซึ่งอาจจะเป็นการกระตุ้นจากภายนอกมากระทบร่างกายหรือสิ่งที่เป็นวัตถุ
คำว่าMental คือ สมอง เป็นศัพท์ที่บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับวัตถุนิยม เป็นความคิดทุกอย่างที่เกิดจากสมองและเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกในสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่มันเกิดจากการคิดของสมองและก็ไม่ใช่จิตอีกนั่นแหล่ะ
สรุปแล้วก็คือ ในความหมายของคำทั้ง 4 นั้นก็ไม่เหมือนกันและไม่ต่างกันเท่าไรนัก นักปรัชญาก็คงเอาศัพท์เหล่านี้มาเป็นความหมายของจิตนิยม ซึ่งจิตนิยมก็คือ จิตหรือสภาวะทีเป็นนามธรรมมีความเป็นจริงสูงสุด และมีความสำคัญมากกว่าวัตถุ

4. ในเรื่องวัตถุนิยม มีความหมายว่าอย่างไรของลัทธินี้ และถ้าคนเบื่อลัทธินี้แล้วจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ ?
ตอบ วัตถุนิยม คือ สรรพสิ่งที่เกิดจากวัตถุธาตุต่าง ๆ เป็นปฐมเหตุของสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นวัตถุ จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความนึกคิดต่าง ๆ ล้วนเกิดมาจากวัตถุทั้งสิ้น และไม่ยอมรับในทัศนะของจิตนิยมด้วย ศูนย์กลางของมนุษย์และความรู้สึกต่าง ๆ อยู่ที่สมองและต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ดังนั้น วัตถุเท่านั้นเป็นสภาวะที่แท้จริง
ส่วนคนที่เบื้อลัทธิวัตถุนิยมแล้วนั้น จะมีผลกระทบอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย คือว่า ในโลกของชาวตะวันนั้นเป็นโลกที่เจริญทางด้านวัตถุหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่นับไม่ถ้วน แต่ความเจริญทางด้านจิตใจกลับลดน้อยลงไปทุกที และเป็นสิ่งที่ไม่ได้พัฒนาไปตามวัตถุนิยม และเราจะเห็นได้ว่า ยุคปัจจุบันนั้นโลกของชาวตะวันตกนั้นมีความพยายามที่จะเข้าหาโลกของชาวตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นโลกที่มีความเจริญทางด้านจิตใจอยู่ จนบ้างครั้งการเข้าหาดังกล่าว กลับทำให้เชื่ออย่างงมงาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก ควรจะมีทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจอยู่ด้วย และควรพัฒนาให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน
5. เรื่อง Substance (มวลสาร) and Accident(การอิงอาศัยกัน) ตามแนวคิดของอริสโตเติลและตามแนวคิดของพุทธปรัชญาว่าอย่างไร ?
ตอบ substance and Accident ตามแนวของอริสโตเติลนั้นเห็นว่า substance ก็คือ Being หรือ มวลสาร หรือ วัตถุชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ สิ่งซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะเป็นที่อาศัยของลักษณะบังเอิญ (Accidents) ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เป็นประธาน เป็นตัวยืน หรือเรียกว่าคุณสมบัติปฐมภูมิ
ส่วน Accident ท่านมีแนวคิดว่า คือสิ่งที่มีอยู่จริง เช่นกัน แต่เป็นความมีอยู่ที่ไม่แน่นอนเสมอไปเหมือนกับ Substance Accident นั้นขึ้นอยู่กับความมีอยู่จริงของ Substance หรืออิงอาศัย Substance อยู่นั่นเอง เมื่อ Substance สลายไป Accident ก็สลายไปด้วย จะอยู่ไปทำไม
ส่วนเรื่อง Substance and Accident ตามแนวพุทธปรัชญานั้นเห็นว่า ทั้ง Substance และ Accident ก็มีความคล้ายๆกัน หรือต้องอิงอาศัยกันและในสภาวะทั้งสองอย่าง เช่นในเรื่องขันธ์ 5 นั้น จะเห็นได้ชัดว่า ระหว่างมหาภูตรูป 4 กับ อุปาทายรูป 24 นั้นต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปทั้งสองอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และก็คล้าย ๆ กับหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย มันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง
สรุปแล้วก็คือ ทั้งสองทัศนะดังกล่าว ก็พยายามที่จะอธิบายเรื่อง Substance and Accidents ให้มีความชัดเจนทั้งสองฝ่าย ทั้งคู่ คือเป็นสิ่งซึ่งอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นมา แต่อริสโตเติลบอกว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงภายนอกเท่านั้นในเรื่องของ Substance
6.จงหาคำตอบที่เกี่ยวกับการเข้าถึงความจริงที่มีอยู่จริง ว่าอะไรคือปรากฏการณ์หรือมายา และเข้าถึงความจริงได้อย่างไร?
ตอบ การเข้าถึงความจริงนั้นก็ต้องรู้ธาตุแท้ว่าสิ่งหนึ่ง ๆ คืออะไร หรือเรียกว่า สารัตถะของสิ่งนั้น ๆ หรือแก่นแท้ของสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น แก่นแท้ของไฟก็คือความร้อน หรือความร้อนเป็นสารัตถะของไฟ ดังนั้น สารัตถะ (Essen) เป็นส่วนสำคัญและขาดไม่ได้ของสิ่งต่างๆ และการเข้าถึงความจริงที่มีอยู่จริง ๆ นั้นคือ การเข้าถึงแบบอัตถิภาวะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ชัดเจน สามารถรับรู้ได้ เป็นสิ่งสัมบูรณ์โดยภาวะ มีความชัดเจน ดังนั้น อัตถิภาวะจึงพูดถึงสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ ที่สามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส และมีความมีอยู่จริง 2 ทัศนะ คือ
1. เป็นมายา คือเป็นความจริงปรากฏการณ์ชั่วคราว เป็นความหลอกลวง ไม่จริงแท้ เช่น ความเป็นพระ ครู นักเรียน ทหาร ซึ่งล้วนเป็นเพียงมายาไม่จริง เช่น เมื่อครั้งกระโน้นเป็นพระ แต่พอลาสิกขาแล้ว ก็ไม่ใช่พระ เป็นต้น
2. เป็นความมีอยู่จริงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น นมสดเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อใดมันเปลี่ยนแปลงกลายเป็นนมส้ม นมสดก็ไม่มี เพราะนมส้มไม่ใช่นมสด นมส้มจึงมีขึ้น และเมื่อใดนมส้มกลายเป็นเนย นมส้มก็จะไม่มีอยู่ แต่กลับเป็นเนย ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวนั้นจัดว่า เป็นความมีอยู่จิรงเป็นช่วง ๆ โดยอาศัยกาลเวลาและสถานที่เป็นเครื่องแบ่งแยก
ส่วนการเข้าถึงความจริงได้นั้นมี 2 วิธีด้วยกันคือ
1.การเข้าถึงความจริงด้วยเหตุผล คือส่วนมากจะเป็นการเข้าถึงความจริงของพวกนักปรัชญา ที่ชอบตรึก ชอบคิด ชอบค้นคว้าของสิ่งต่างๆอยู่เสมอ และไม่เชื่อในเรื่องของการปฏิบัติ คือรู้ความจริงของสิ่งนั้นแล้วก็พอแค่นั้น
2.การเข้าถึงความจริงด้วยหลักศรัทธา คือการเข้าถึงความจริงนั้นคนทั่วไปส่วนใหญ่จะเห็นได้ด้วยตนเอง เห็นความจริงได้ด้วยประสบการณ์ตรงและเป็นความจริงที่อยู่เหนือโลกใบนี้



No comments: