Wednesday, March 14, 2007

แนวข้อสอบ
วิชา อภิปรัชญา
.................................................................
1. อภิปรัชญาว่าด้วยเรื่องอะไร ?
ตอบ อภิปรัชญา แปลตามตัวว่า ปรัชญาอันยิ่งหรือปรัชญาชั้นสูง ซึ่งว่าด้วยปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพของโลกและฐานะของมนุษย์ หรือเรื่องความเป็นจริงแท้ของโลกและจักรวาล ของคน และภาวะที่เหนือธรรมชาติต่าง ๆ
ในทัศนะของชาวตะวันตกกล่าวว่า อภิปรัชญา คือ การศึกษาเรื่องภาวะหรือสัตย์ (Being) และความมีอยู่ (Existence) หรือการศึกษาภาวะทั่วไปอย่างใดอย่างหนึ่งของสิ่งทั้งหลาย
ส่วนในทัศนะของชาวตะวันออกบอกว่า อภิปรัชญาในทัศนะของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปปะพงษ์ประพันธ์ ทรงคิดขึ้นใช้แทนคำว่า Metaphysics ในทางตะวันตก โดยคิดเทียบเคียงกับคำว่า อภิธรรม ซึ่งว่าด้วยเนื้อความอย่างยิ่ง

2.โลกและจักรวาลในแนวพุทธศาสนา เป็นอย่างไร?
ตอบ โลกและจักรวาลในพุทธศาสนาหรือพุทธปรัชญา ก็คือ เบญจขันธ์หรือสังขารโลก พุทธศาสนาสนใจในเรื่องของสังขารโลกโดยพระพุทธองค์ตรัสว่า “พระองค์ทรงบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับโลก ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลกในร่างกายนี้แหละ อันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจครอง”
แต่ถ้าเราไปยึดเบญจขันธ์เป็นตัวตน(สักกายทิฏฐิ) คือการยึดถือว่า รูปนามมีจริงซึ่งเป็นของของเรา จนทำให้เกิดการมองโลกและจักรวาลว่าเที่ยงในทัศนะของคนบางคน แต่พุทธศาสนาไม่ยึดทั้งวัตถุและจิต แต่ให้มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และบางครั้งวัตถุกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันหรือปฏิจจสมุปบาท มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ และมันดับไป ตามกฎแห่งพระไตรลักษณ์
สรุปก็คือ โลกและจักรวาลคือ ขันธ์5 โดยมี อายตนะ12 และธาตุ18 เป็นองค์ประกอบ
โลกและจักรวาลเกิดได้โดยอาศัยหลักปฏิจจสมุปบาท
ธรรมชาติของโลกและจักรวาล คือหลักพระไตรลักษณ์
ลำดับชั้นของโลกและจักรวาล มี 2 แนวคิด คือ แนวคิดของวิทยาศาสตร์และแนวคิดของพุทธศาสนา

3.ในเรื่องจิตนิยม ให้หาความหมายของคำต่อไปนี้ soul, spirit, Mind, และMental มาพอเข้าใจ?
ตอบ คำว่า soul (จิต) ในทัศนะของเพลโต้บอกว่า จะเป็นจิตก็ไม่ใช่ จะเป็นวัตถุก็ไม่เชิง แต่เพลโต้บอกว่าต้องเข้าถึงความคิด ท่านคงจะหมายถึง ธาตุที่แสวงหาความรู้ที่เรียกว่า “ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน” มี 3 ขั้นด้วยกันคือ
1.ความรู้ในเรื่องกิเลสตัณหา
2.ความรู้ในเรื่องความผิดชอบชั่วดี
3.ความรู้ในเรื่องเหตุผล
คำว่า spirit คือ ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัยกัน เขาเรียกว่าคนมี spirit คนไทยเขาเรียกว่า คนมีน้ำใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจ
คำว่าMind คือสภาวะนามธรรมซึ่งทำหน้าที่รับรู้ รู้สึก คิด จำ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกาย และก็ไม่ใช่จิตอีกนั่นแหล่ะ ซึ่งอาจจะเป็นการกระตุ้นจากภายนอกมากระทบร่างกายหรือสิ่งที่เป็นวัตถุ
คำว่าMental คือ สมอง เป็นศัพท์ที่บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับวัตถุนิยม เป็นความคิดทุกอย่างที่เกิดจากสมองและเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกในสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่มันเกิดจากการคิดของสมองและก็ไม่ใช่จิตอีกนั่นแหล่ะ
สรุปแล้วก็คือ ในความหมายของคำทั้ง 4 นั้นก็ไม่เหมือนกันและไม่ต่างกันเท่าไรนัก นักปรัชญาก็คงเอาศัพท์เหล่านี้มาเป็นความหมายของจิตนิยม ซึ่งจิตนิยมก็คือ จิตหรือสภาวะทีเป็นนามธรรมมีความเป็นจริงสูงสุด และมีความสำคัญมากกว่าวัตถุ

4. ในเรื่องวัตถุนิยม มีความหมายว่าอย่างไรของลัทธินี้ และถ้าคนเบื่อลัทธินี้แล้วจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ ?
ตอบ วัตถุนิยม คือ สรรพสิ่งที่เกิดจากวัตถุธาตุต่าง ๆ เป็นปฐมเหตุของสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นวัตถุ จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความนึกคิดต่าง ๆ ล้วนเกิดมาจากวัตถุทั้งสิ้น และไม่ยอมรับในทัศนะของจิตนิยมด้วย ศูนย์กลางของมนุษย์และความรู้สึกต่าง ๆ อยู่ที่สมองและต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ดังนั้น วัตถุเท่านั้นเป็นสภาวะที่แท้จริง
ส่วนคนที่เบื้อลัทธิวัตถุนิยมแล้วนั้น จะมีผลกระทบอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย คือว่า ในโลกของชาวตะวันนั้นเป็นโลกที่เจริญทางด้านวัตถุหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่นับไม่ถ้วน แต่ความเจริญทางด้านจิตใจกลับลดน้อยลงไปทุกที และเป็นสิ่งที่ไม่ได้พัฒนาไปตามวัตถุนิยม และเราจะเห็นได้ว่า ยุคปัจจุบันนั้นโลกของชาวตะวันตกนั้นมีความพยายามที่จะเข้าหาโลกของชาวตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นโลกที่มีความเจริญทางด้านจิตใจอยู่ จนบ้างครั้งการเข้าหาดังกล่าว กลับทำให้เชื่ออย่างงมงาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก ควรจะมีทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจอยู่ด้วย และควรพัฒนาให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน
5. เรื่อง Substance (มวลสาร) and Accident(การอิงอาศัยกัน) ตามแนวคิดของอริสโตเติลและตามแนวคิดของพุทธปรัชญาว่าอย่างไร ?
ตอบ substance and Accident ตามแนวของอริสโตเติลนั้นเห็นว่า substance ก็คือ Being หรือ มวลสาร หรือ วัตถุชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ สิ่งซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะเป็นที่อาศัยของลักษณะบังเอิญ (Accidents) ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เป็นประธาน เป็นตัวยืน หรือเรียกว่าคุณสมบัติปฐมภูมิ
ส่วน Accident ท่านมีแนวคิดว่า คือสิ่งที่มีอยู่จริง เช่นกัน แต่เป็นความมีอยู่ที่ไม่แน่นอนเสมอไปเหมือนกับ Substance Accident นั้นขึ้นอยู่กับความมีอยู่จริงของ Substance หรืออิงอาศัย Substance อยู่นั่นเอง เมื่อ Substance สลายไป Accident ก็สลายไปด้วย จะอยู่ไปทำไม
ส่วนเรื่อง Substance and Accident ตามแนวพุทธปรัชญานั้นเห็นว่า ทั้ง Substance และ Accident ก็มีความคล้ายๆกัน หรือต้องอิงอาศัยกันและในสภาวะทั้งสองอย่าง เช่นในเรื่องขันธ์ 5 นั้น จะเห็นได้ชัดว่า ระหว่างมหาภูตรูป 4 กับ อุปาทายรูป 24 นั้นต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปทั้งสองอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และก็คล้าย ๆ กับหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย มันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง
สรุปแล้วก็คือ ทั้งสองทัศนะดังกล่าว ก็พยายามที่จะอธิบายเรื่อง Substance and Accidents ให้มีความชัดเจนทั้งสองฝ่าย ทั้งคู่ คือเป็นสิ่งซึ่งอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นมา แต่อริสโตเติลบอกว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงภายนอกเท่านั้นในเรื่องของ Substance
6.จงหาคำตอบที่เกี่ยวกับการเข้าถึงความจริงที่มีอยู่จริง ว่าอะไรคือปรากฏการณ์หรือมายา และเข้าถึงความจริงได้อย่างไร?
ตอบ การเข้าถึงความจริงนั้นก็ต้องรู้ธาตุแท้ว่าสิ่งหนึ่ง ๆ คืออะไร หรือเรียกว่า สารัตถะของสิ่งนั้น ๆ หรือแก่นแท้ของสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น แก่นแท้ของไฟก็คือความร้อน หรือความร้อนเป็นสารัตถะของไฟ ดังนั้น สารัตถะ (Essen) เป็นส่วนสำคัญและขาดไม่ได้ของสิ่งต่างๆ และการเข้าถึงความจริงที่มีอยู่จริง ๆ นั้นคือ การเข้าถึงแบบอัตถิภาวะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ชัดเจน สามารถรับรู้ได้ เป็นสิ่งสัมบูรณ์โดยภาวะ มีความชัดเจน ดังนั้น อัตถิภาวะจึงพูดถึงสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ ที่สามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส และมีความมีอยู่จริง 2 ทัศนะ คือ
1. เป็นมายา คือเป็นความจริงปรากฏการณ์ชั่วคราว เป็นความหลอกลวง ไม่จริงแท้ เช่น ความเป็นพระ ครู นักเรียน ทหาร ซึ่งล้วนเป็นเพียงมายาไม่จริง เช่น เมื่อครั้งกระโน้นเป็นพระ แต่พอลาสิกขาแล้ว ก็ไม่ใช่พระ เป็นต้น
2. เป็นความมีอยู่จริงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น นมสดเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อใดมันเปลี่ยนแปลงกลายเป็นนมส้ม นมสดก็ไม่มี เพราะนมส้มไม่ใช่นมสด นมส้มจึงมีขึ้น และเมื่อใดนมส้มกลายเป็นเนย นมส้มก็จะไม่มีอยู่ แต่กลับเป็นเนย ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวนั้นจัดว่า เป็นความมีอยู่จิรงเป็นช่วง ๆ โดยอาศัยกาลเวลาและสถานที่เป็นเครื่องแบ่งแยก
ส่วนการเข้าถึงความจริงได้นั้นมี 2 วิธีด้วยกันคือ
1.การเข้าถึงความจริงด้วยเหตุผล คือส่วนมากจะเป็นการเข้าถึงความจริงของพวกนักปรัชญา ที่ชอบตรึก ชอบคิด ชอบค้นคว้าของสิ่งต่างๆอยู่เสมอ และไม่เชื่อในเรื่องของการปฏิบัติ คือรู้ความจริงของสิ่งนั้นแล้วก็พอแค่นั้น
2.การเข้าถึงความจริงด้วยหลักศรัทธา คือการเข้าถึงความจริงนั้นคนทั่วไปส่วนใหญ่จะเห็นได้ด้วยตนเอง เห็นความจริงได้ด้วยประสบการณ์ตรงและเป็นความจริงที่อยู่เหนือโลกใบนี้



แนวข้อสอบ
วิชาพระพุทธศาสนากับปรัชญา
………………………………………..
ข้อสอบมีทั้งหมด 7 ข้อ เลือกทำ 5 ข้อ แต่บังคับให้ทำ 1 ข้อ
1. จงวิเคราะห์ในความเหมือนและความต่างระหว่างศาสนากับปรัชญามาดูพอเข้าใจ ? (ข้อบังคับ)
ตอบ ความเหมือนของศาสนากับปรัชญา มีดังนี้
ศาสนากับปรัชญามีบ่อเกิดเหมือน ๆ กัน คือ ศาสนามีบ่อเกิดมาจากความสงสัยในโลกและชีวิตซึ่งเป็นปรัศนาและมนุษย์ก็อาศัยปริศนานั้นเป็นมูลรากในการค้นหาคำตอบ และพยายามที่จะเข้าถึงปริศนาอันนี้โดยการบำเพ็ญเพียรบ้าง โดยการได้รับการเปิดเผยธรรมจากเบื้องบน เมื่อทราบปมหรือข้อมูลปรัศนาอันนั้นก็นำออกมาเผยแผ่แก่ผู้คน โดยมีหลักศรัทธาเป็นรากฐานแห่งการค้นพบนั้นเป็นคำตอบสุดท้าย ความสมเหตุสมผลจะมีหรือไม่มีไม่สำคัญ ซึ่งกระบวนการนี้ชื่อว่าเป็นบ่อเกิดของศาสนา
ส่วนปรัชญาก็มีบ่อเกิดมาจากการที่มนุษย์มีความสงสัยในปรัศนาของโลกและชีวิต แต่ความสงสัยของนักปรัชญานั้น จะต้องอยู่บนรากฐานของการแสวงหาเหตุผลของสิ่งที่เป็นปัญหาโดยไม่ยึดหลักศรัทธาเป็นคำตอบสุดท้าย สรุปแล้วก็คือว่า บ่อเกิดของศาสนากับปรัชญาจะเหมือนกันก็คือ เกิดความสงสัยในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลกและชีวิต แต่ผลสุดท้ายทั้ง 2 อย่างนั้นกลับลงคนละจุดกัน กล่าวคือ ศาสนายุติที่ศรัทธาต่อสิ่งสูงสุด ส่วนปรัชญายุติที่ความพอใจในเหตุผลของคำตอบซึ่งผ่านกระบวนการคิดในเชิงปรัชญามาแล้ว
ความต่างของศาสนากับปรัชญา หากพิจารณาถึงองค์ประกอบแล้วต่างกันมาก คือ
องค์ประกอบของศาสนา ในปัจจุบันได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ ๆ หนึ่งขึ้นมาเพื่อทีจะใช้เป็นกรอบในการตัดสินว่าศาสนาใดบ้างที่อยู่ในรูปแบบของศาสนาหรือไม่ มี 5 อย่าง คือ
1. ศาสดาหรือผู้ก่อตั้งของศาสนานั้น ๆ
2. ศาสนธรรมหรือคำสั่งสอน ได้แก่ คัมภีร์ซึ่งเป็นที่บรรจุคำสอนของศาสนานั้น ๆ
3. ศาสนพิธี ได้แก่พิธีกรรมทางศาสนาซึ่งมีบัญญัติไว้ในคำสอนของศาสนานั้น ๆ
4. ศาสนสถาน ได้แก่ สถานที่สำหรับประกอบพิธีหรือที่เคารพของศาสนิกชนของศาสนานั้น ๆ
5. ศาสนาบุคคล ได้แก่ผู้สืบทอดหรือเป็นตัวแทนของศาสนาในการเผยแผ่แนวคำสอนของศาสนาแก่บุคคล
องค์ประกอบของปรัชญา ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสรุปได้ว่า มีอะไรบ้าง แต่นักปรัชญาจะต้องมีพื้นฐานอยู่ที่การเป็น “นักคิด” ซึ่งผิดกับนักศาสนาที่เป็นนักปฏิบัติ แต่มีประเด็นดังนี้ คือ
1. นักคิด ได้แก่นักปรัชญาหรือมนุษย์ผู้มีความใฝ่รู้ชอบคิดชอบสังเกตและสงสัยในปัญหาของโลกและชีวิต และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดกับสังคม ซึ่งเป็นผู้รักในความรู้
2. สิ่งที่คิดหรือเนื้อหาของความคิด ได้แก่ ปัญหาพื้นฐานของปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับโลกทัศน์ต่อโลกและชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่นักปรัชญาอยากรู้หรือต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางปรัชญา
3. วิธีคิด ได้แก่ ระบบของความคิดในเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นการคิดแบบพื้นฐานของปรัชญาที่จะนำนักปรัชญาไปสู่ความเข้าใจในปัญหานั้น ๆ
4. ความรู้หรือคำตอบของปัญหาที่เป็นแบบปลายเปิด ได้แก้ สิ่งที่เป็นคำตอบที่สามารถอธิบายให้แก่คนอื่นได้รับรู้ และผู้พิจารณาสามารถโต้แย้งหรือนำไปคิดต่อได้โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเชื่อสิ่งที่นักปรัชญาคิด
2. พระพุทธศาสนาเป็นทุนิยมใช่หรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ พุทธศาสนานั้นจัดว่าเป็นทุนิยม ถ้ามองในแง่ตะวันตกมักจะกล่าวว่า พุทธศาสนามักจะสอนเน้นในเรื่องให้มนุษย์มองโลกในแง่ร้าย(ทุนิยม) ดังเช่น อริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ นั่นคือจะมองอะไรก็เป็นทุกข์ไปหมด ทำไมไม่มองโลกในแง่ดีบ้าง(สุนิยม)
แต่ถ้ามองในแง่ของตะวันออกแล้ว พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์มองในแง่ร้าย แต่สอนให้มนุษย์มองอะไรว่าไม่สวยไม่งามเป็นทุกข์หรือมองโลกในแง่ที่เห็นตามความเป็นจริง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเกิดก็เป็นทุกข์ การแก่ก็เป็นทุกข์ เป็นต้น นั่นคือลักษณะของความทุกข์ และทุกข์นั้นจัดว่าเป็นความจริง ส่วนสุขไม่จัดว่าเป็นความจริง เหมือนกับความมืดที่เป็นความจริงโดยธรรมชาติ ส่วนความสว่างไม่จัดว่าเป็นความจริงโดยธรรมชาติ เพราะต้องอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงดาวหรือไฟ ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศที่เป็นหนี้เป็นสินประเทศอื่น เมื่อเกิดมาก็ยอมรับสภาพเป็นหนี้ไปด้วย ดังนั้นเมื่อเราสร้างความสุขให้มีขึ้น มีเงินมีทอง ความทุกข์ก็ลดลงไป ดังนั้น ทุกข์จึงเปรียบได้กับความมืดและความจริงโดยธรรมชาติ อาจจะเรียกว่าเป็นสัจจนิยมก็ได้
3. เรื่องกรรมและการเกิดใหม่ในมุมมองของพุทธปรัชญาเป็นอย่างไรบ้าง ?
ตอบ เรื่องกรรมในทัศนะของพุทธปรัชญานั้น เชื่อว่า เมื่อบุคคลทำกรรมใดไว้ ไม่ว่ากรรมนั้นจะดีหรือเลวก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้
ส่วนเรื่องการเกิดใหม่ พุทธปรัชญาเชื่อว่า การที่จะเกิดในที่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนได้ทำไว้นั้นเอง กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ 5 หรือรูปกับนาม ซึ่งส่วนที่ทำหน้าที่ไปเกิดใหม่นั้นก็คือ “จิตหรือวิญญาณ” นั่นเอง ถึงกระนั้น ถ้าวิญญาณไม่ก้าวลงสู่ครรภ์มารดา นามรูปจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้นวิญญาณที่ดับในชาติก่อนเรียกว่า “จุติวิญญาณ” ส่วนวิญญาณที่เกิดใหม่เรียกว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” แต่จุติวิญญาณกับปฏิสนธิวิญญาณนั้นเป็นวิญญาณคนละดวงกัน เมื่อจุติวิญญาณจะดับลงนั้น จุติวิญญาณได้ส่งผลบุญและบาปออกไปอันเป็นปัจจัยให้เกิดในปฏิสนธิวิญญาณในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป
ถ้าว่าตามความเป็นจริงแล้ว จุติวิญญาณในชาติอดีตมิได้ข้ามมาเกิดในชาติปัจจุบันโดยตรง เพราะจุติวิญญาณเก่าได้ดับลงไปแล้ว แต่จุติวิญญาณได้ส่งพลังให้ปฏิสนธิวิญญาณอีกต่อหนึ่ง คือการส่งผลบุญและบาปที่จุติวิญญาณส่งมาให้นั้นแหละเป็นพลังให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณจึงเป็นผู้รับมรดกจากจุติวิญญาณเพราะผลกรรมนั้นเองส่งผลให้ไปเกิดหรือเป็นปฏิสนธิวิญญาณใหม่เรื่อย ๆ ไป เช่น มีบ้านหลังหนึ่งกำลังถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง และการไหม้อย่างรุนแรงของไฟนั้น ทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีกับอีกบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กัน คือความร้อนของไฟในบ้านที่ถูกไฟไหม้นั้น ได้แผ่กระจายความร้อนของไฟไปหายังบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน จึงทำให้ไฟนั้นพร้อมที่จะลุกทุกเมื่อ เมื่อมีความร้อนถึงขีดจำกัดของมัน
การเกิดใหม่นั้น จะมีกรรมอย่างหนึ่งที่หล่อเลี้ยงอยู่คือ ชนกกรรม หมายถึงกรรมแต่งให้เกิด ซึ่งเมื่อมีพลังที่เรียกว่า ผลบุญและบาปอุปถัมภ์อยู่แล้วชีวิตย่อมเกิดอีกต่อไป เพราะกรรมตัวนี้มีส่วนให้กำเนิดปฏิสนธิวิญญาณ แต่เมื่อจิตหรือวิญญาณทำกรรมที่ทำด้วยกุศล ไม่มีโทษ มีแต่สุข กรรมเช่นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม จะไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมใหม่อีกต่อไป เมื่อกรรมดับ การเกิดใหม่เพราะพลังแห่งชนกกรรมก็ไม่มี จึงสิ้นสุดในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ นั่นคือ การเข้าถึงพระนิพพาน
4. จงวิเคราะห์ว่า พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ พุทธศาสนานั้น “เป็น” ทั้งปรัชญาและศาสนา แต่ข้าพเจ้าจะขอกล่าวส่วนที่เป็นปรัชญา ดังนี้
สาเหตุที่พุทธศาสนาเป็นปรัชญาเพราะว่า ถือทั้งหลักศรัทธาและปัญญาหรือเหตุผล ซึ่งต่างจากบางศาสนาที่ถือแต่หลักศรัทธาอย่างเดียว โดยไม่ถือหลักเหตุผลเป็นสำคัญคือเชื่อคำสอนที่มีอยู่ในคัมภีร์อย่างเคร่งครัด แต่พุทธศาสนานั้นยึดหลักศรัทธาและเหตุผลที่มีต่อคำสอนในคัมภีร์พระไตรปิฏกเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในประเด็นนี้จะยึดเอาแต่ความสมเหตุสมผลหรือความมีหลักเกณฑ์ของคำสอนที่สามารถอธิบายได้ และจะเชื่อก็ต่อเมื่อคำสอนนั้นสามารถให้คำตอบแก่มนุษย์ได้อย่างมีเหตุผล และมี 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ
1. สาเหตุที่พุทธสาสนาเป็นปรัชญานั้นโดยเฉพาะคำสอนที่เป็นระบบมีความเป็นสมเหตุสมผลในตัวเอง เช่น หลักไตรลักษณ์ เราจะพบว่าเมื่อตรวจสอบไล่เลี้ยงดูแล้วสรรพสิ่งก็จะมีลักษณะเป็นเช่นนั้น หรือหลักปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นหลักของความเกิดดับอย่างเป็นระบบของสรรพสิ่ง ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นปรัชญาขึ้นมาได้
2. คำสอนนั้นสามารถอธิบายได้โดยวิธีการทางปรัชญา โดยไม่ต้องติดค้างอยู่กับศรัทธาต่อพระพุทธองค์ ในประเด็นนี้นักปรัชญาจะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ถือว่าการอธิบายคำสอนของพระพุทธองค์เป็นการเฉพาะ ไม่ปะปนด้วยเรื่องบุญญาธิการและการตรัสรู้ของพระพุทธองค์แม้แต่น้อย ซึ่งอธิบายคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นการแสวงหาสัจจะอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งซ่อนอยู่ในคำสอนนั้นออกมาอธิบายให้แก่คนอื่นได้รู้ ดังนั้นจึงทำให้พุทธศาสนาจึงชื่อว่าเป็นปรัชญาหรือพุทธปรัชญา
สรุปแล้ว ขั้นแรกที่พระพุทธองค์เกิดความสงสัยขึ้นกับพระองค์ ทำให้พระองค์ต้องอยากจะรู้ในสิ่งนั้นนั่นเองจึงทำให้พระองค์เป็น Philosophy ในความเข้าใจของชาวตะวันตก เมื่อพระองค์ทรงบรรลุธรรมแล้วจึงเรียกว่า ปัญญาหรือปรัชญาในความเข้าใจของชาวตะวันออก แต่ชาวตะวันออกมักจะอธิบายไปในแนวตะวันตก
5. จงวิเคราะห์เรื่องขันธ์ 5 ตามแนวพุทธปรัชญามาดู และย่อลงเป็น 2 อย่างมีอะไรบ้าง ?
ตอบ ขันธ์ 5 ตามแนวพุทธปรัชญามีดังนี้
1. รูป เป็นองค์ประกอบฝ่ายสสารหรือวัตถุพลังงาน รูปนี้เองเป็นร่างกายของมนุษย์ รูปมี 28 ประการ ได้แก่ มหาภูตรูป 4 หรือปฐมภูมิ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ และธาตุไฟ เป็นสิ่งที่มีคุณภาพเบื้องต้น และอุปาทายรูป 24 คือ รูปที่เกิดจากมหาภูตรูปหรือเกิดขึ้นเพราะอาศัยมหาภูตรูป เรียกว่า ทุติยภูมิ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอื่น ๆ ดังนั้นมหาภูตรูปกับอุปาทายรูปจึงต้องการอิงอาศัยกัน ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปทั้งสองอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
2. เวทนา หมายถึง คุณลักษณะของจิตหรือวิญญาณ หมายถึง ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเพียงเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ บางทีเรียกเวทนาเป็นเจตสิก เพราะเมื่อมีจิตหรือวิญญาณเวทนาจึงจะเกิด
3. สัญญา หมายถึง การจำได้หมายรู้ การจำอาการหรือลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ เช่น สี สัณฐาน กลิ่น ความอ่อนแข็งและอื่น ๆ ในฝ่ายอภิธรรมเรียกว่าเจตสิก
4. สังขาร หมายถึง ลักษณะที่ปรุงแต่งจิตหรือประกอบกับจิตให้เป็นไปในทางดีหรือไม่ดี หรือเป็นกลาง ๆ สังขารจึงเปรียบเหมือนสี เมื่อเข้าไปผสมหรือเข้าไปในน้ำซึ่งเปรียบด้วยจิตก็ทำให้น้ำนั้นเป็นสีใดก็ได้ เพราะสีหรือสังขารเป็นเครื่องปรุงให้น้ำเป็นสีต่าง ๆ ได้
5. วิญญาณ หมายถึง ธรรมชาติที่สามารถรู้แจ้งอารมณ์โดยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ฝ่ายอภิธรรมเรียกว่าจิต
และย่อลงเหลือ 2 อย่าง คือรูปกับนาม ที่ได้ชื่อว่าเป็นรูป เพราะประกอบด้วยสสารทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ส่วนที่ได้ชื่อว่าเป็นนามนั้น เป็นองค์ประกอบฝ่ายจิตเพื่อปรุงแต่งให้มีชีวิต คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สรุปแล้วก็คือ วิญญาณหรือจิตจะมีปรากฏขึ้นได้ ต้องมีการรวมตัวของมหาภูตรูป 4 อย่างสมดุลกันด้วยดีจึงเกิดเป็นรูป แล้วตัวนามหรือวิญญาณ เวทนา สัญญา และสังขาร จึงจะเกิดขึ้นมีขึ้นได้ตามมา
6. แหล่งกำเนิดของความรู้ในพุทธปรัชญามีอะไรบ้าง และมีหลักการเชื่ออย่างไร ?
ตอบ แหล่งกำเนิดหรือบ่อเกิดของความรู้ในพุทธปรัชญา มี 3 อย่าง คือ
1. สุตมยปัญญา หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การอ่านจากตำราหรือคัมภ์ที่น่าเชื่อถือได้ อย่างเช่นพระไตรปิฏกเป็นต้น ตลอดถึงการรับถ่ายทอกจากผู้ที่น่าเชื่อถือได้
2. จินตามยปัญญา ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิด ใคร่ครวญอย่างมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาเหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์
3. ภาวนามยปัญญา ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการพัฒนาหรือเกิดจากประสบการณ์ตรง อันเกิดจากสัญญาบริสุทธิ์และสัญญาพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานนั้นคือพุทธิปัญญาอันมีมาโดยสัญชาตญาณ
ส่วนหลักการเชื่อว่าอะไรเป็นความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ และพระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงหรือภาวนามยปัญญา ถ้าความรู้เหล่านั้นสอดคล้องกับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ก็ให้ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงให้พิจารณาโดยอาศัยกาลามสูตรเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรฐาน ดังนี้
1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะหลักตรรกะ
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านเป็นสมณะนี้เป็นครูของเรา
สรุปว่า ในเมื่อความรู้จากแหล่งทั้งสามขัดแย้งกันเองเช่นนี้ เราต้องอาศัยประสบการณ์ตรงเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความรู้ เพราะประสบการณ์ตรงมีน้ำหนักและสำคัญที่สุด อาจจะเป็นประสบการณ์ทางตาหรือทางใจก็ได้

Tuesday, March 13, 2007




บรรยากาศดีๆ ที่ ค่าย ....

Monday, March 12, 2007